
ภัยอันตรายของน้องแมว ที่เจ้าของไม่อยากให้เจอ
ภัยอันตรายของน้องแมว มีมากมายหลายโรคแต่มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte หรือที่เรียกว่า lymphoma เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยมากที่สุดในแมว เม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte นั้นมีความสำคัญมากเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของแมว
มะเร็งชนิดนี้จึงมีความน่ากลัวสูง และพบว่าการเกิดมะเร็งชนิดนี้สามารถถูกโน้มนำได้จากการติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า ไวรัสลิวคีเมียในแมว feline leukemia virus ( FeLV ) หรือไวรัสเอดส์แมว feline immunodeficiency virus ( FIV )
ภัยอันตรายของน้องแมว ที่เจ้าของไม่อยากให้เจอ
จะเกิดอะไรขึ้นหากน้องแมวได้รับเชื้อมะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว จะกดระบบภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างช้าๆ ทำให้แมวมีโอกาสติดเชื้อโรคอื่นได้ง่าย อาทิเช่น
- โรคมะเร็ง
- การอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
- ปัญหาการสืบพันธุ์
สำหรับลูกแมว เชื้อโรคนี้ทำให้ร่างกายทรุดโทรมลงอย่างช้าๆ ซึ่งหากไม่ได้รับรักษาอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมวแพร่กระจายอย่างไร
โรคนี้สามารถถ่ายทอดระหว่างแมวสู่แมวผ่านน้ำลายเมื่อแมวทำความสะอาดร่างกายให้กัน ใช้ชามอาหารร่วมกัน และอยู่ใกล้กันตลอดเวลา นอกจากนี้เชื้อโรคยังสามารถแพร่เชื้อผ่านสารคัดหลั่งจากร่างกายชนิดอื่น เลือด และนมได้
เชื้อโรคนี้เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถซ่อนอยู่ภายในเซลล์ภายในร่างกายของลูกแมวหรือแมวได้ หรือเรียกว่าเชื้อชนิดซ่อนเร้น เชื้อโรคจะแทรกตัวไปยังดีเอ็นเอของแมว โดยที่ไวรัสสามารถเริ่มทำงานและทำให้เกิดโรคหลังจากการติดเชื้อมาแล้วเป็นเวลานาน

อาการของโรค
ลักษณะของการเกิด lymphoma ในแมวสามารถเกิดได้หลากหลายรูปแบบ โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้ 5 แบบ คือ
- ชนิด mediastinal คือพบก้อนเนื้อริเวณตรงกลางของช่องอก ก้อนจะไปเบียดการทำงานของระบบทางเดินหายใจ แมวมักจะมีอาการ
- หายใจลำบาก
- ไอ
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- ชนิดทางเดินอาหาร คือพบก้อนเนื้อในทางเดินอาหาร รวมไปถึงอวัยวะใกล้เคียงในช่องท้อง เช่น ตับ และผนังช่องท้อง ก้อนเนื้อจะรบกวนการทำงานของระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก แมวจะแสดงอาการ
- อาเจียน
- ท้องเสียหรืออาจท้องผูก
- เบื่ออาหาร ผอมแห้ง อ่อนแรง
- อุจจาระพบเลือดสดหรือลิ่มเลือดสีดำ
- ชนิดต่อมน้ำเหลือง คือพบก้อนเนื้อตามต่อมน้ำเหลืองต่างๆ ทั่วร่างกาย สามารถพบการขยายใหญ่ของต่อมน้ำเหลืองบางตำแหน่งในร่างกายได้ เช่น บริเวณใต้กราม ขาหนีบ รักแร้ เป็นต้น
- ชนิดไต คือพบก้อนเนื้อที่ไต จะพบอาการของโรคไต นั่นคือ
- ถ่ายปัสสาวะมาก กินน้ำมาก ( polyuria and polydipsia )
- เบื่ออาหาร ซึม แห้งน้ำ เหงือกซีด
- แบบก้อนเดี่ยว มักพบลักษณะของก้อนเพีงยตำแหน่งเดียว เช่น บริเวณผิวหนัง ตา หรือในสมอง อาการจะแสดงแตกต่างออกไปตามตำแหน่งที่เกิด
การวินิจฉัย
ในการตรวจวินิจฉัยสัตวแพทย์มักจะสอบถามอาการอย่างละเอียด เนื่องจากอาการที่จำเพาะอาจบ่งบอกถึงตำแหน่งของรอยโรคหรือการปรากฏอยู่ของมะเร็งก็ได้ การตรวจร่างกายอาจสามารถคลำพบการขยายใหญ่ของต่อมน้ำเหลืองได้ทันที แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงการเป็น lymphoma เสมอไป
จำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆอีก เช่น การตรวจเลือด เพื่อดูปริมาณของเม็ดเลือด โดยอาจพบการลดลงของเม็ดเลือดแดงหรือมีภาวะโลหิตจางร่วมกับการเพิ่มขึ้นของเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte มากกว่าปกติ และการทำงานของตับและไต รวมถึงตรวจชุดตรวจเพื่อหาการปรากฏอยู่ของเชื้อ FeLV หรือ FIV การตรวจปัสสาวะเพื่อดูการทำงานของไต

ซึ่งการตรวจเลือดทางกล้องจุลทรรศน์สามารถเห็นเซลล์ lymphocyte ที่ผิดปกติได้ทันที แต่จะพบได้ก็ต่อเมื่อเป็นระยะสุดท้ายของมะเร็งแล้ว การถ่ายภาพรังสี (X-ray) จะทำให้เห็นลักษณะของทางเดินหายใจ โดยอาจเห็นก้อนบริเวณต่อมน้ำเหลืองหน้าหัวใจก็เป็นได้ แต่ที่สำคัญที่สุดหากพบก้อนเนื้อที่ใดก็ตามแต่ สามารถเจาะเก็บตัวอย่างเพื่อมาดูทางจุลพยาธิวิทยา และสามารถยืนยันถึงการเป็น lymphoma ได้ทันที
จะพบลักษณะของเซลล์เป็นเซลล์อ่อน คือเซลล์จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติที่เรียกว่า lymphoblast ซึ่งสัตวแพทย์สามารถบ่งบอกระยะของมะเร็งได้จากขนาดของก้อน ตำแหน่ง และการแพร่กระจาไปยังต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงโอกาสรอดของแมวได้
การรักษา
เนื่องจากการรักษานั้นเป็นการต่อสู้กับเชื้อไวรัส และมะเร็งดังนั้น เจ้าของจึงควรทำใจไว้ว่าอาจจะไม่ใช่ 100% ที่น้องแมวจะสามารถรักษาให้หายได้ โดยสามารถใช้วิธีการฉายรังสีเพื่อรักษาได้หากเป็นก้อนในบริเวณผิวหนัง หรือตำแหน่งที่รังสีสามารถเข้าถึงได้ แต่หากเป็นมากกว่า 1 ตำแหน่งหรือมีการแพร่กระจายไปแล้ว
อาจจำเป็นต้องใช้การรักษาโดยคีโม ( chemotherapy ) ซึ่งการรักษาจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด และต้องทำเป็นคอร์ส คือไม่สามารถฉีดยาทุกชนิดเข้าสู่แมวพร้อมกันได้หมดทันที และข้อเสียคืออาจมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น แมวจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาเจียนได้ ภายหลังจากการทำคีโม หรืออาจใช้วิธีการผ่าตัดหากก้อนอยู่ที่ผิวหนัง หรือจำกัดอยู่บริเวณจำเพาะเท่านั้น
การดูแลและจัดการ
แมวที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ มักจะไม่ได้เสียชีวิตจากโรคนี้โดยตรง แต่มักจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อแทรกซ้อน เหมือนกับโรคเอดส์ในคน เนื่องจากเม็ดเลือดขาวที่เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายกลับถูกยับยั้งหรือกดการทำงานไป ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อต่างๆได้ ดังนั้นเมื่อทราบว่าแมวเป็นโรคนี้ การดูแลจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ทั้งการออจากบ้านเพื่อไปรับการติดเชื้อ รวมไปถึงอาหารการกิน และการรักษาด้วยคีโม

หากเริ่มให้การรักษาแบบคีโมแล้ว อาจจำเป็นจะต้องดูแลแมวให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเจ้าของเองก็ควรต้องระวังสิ่งคัดหลั่งซึ่งอาจมียาคีโมปนเปื้อนทั้งในปัสสาวะและอุจจาระ ซึ่งต้องทำความสะอาดและเก็บกวาดแบบจำเพาะ ใส่ถุงมือเมื่อจับตัวแมว ป้อนยา และทำความสะอาดสิ่งปฏิกูล และควรให้แมวได้รับสารอาหารให้มากที่สุด
เพราะการทำลายเซลล์มะเร็งโดยยาคีโมสามารถไปทำลายผนังเยื่อบุลำไส้ ทำให้แมวมีความไม่อยากอาหาร การเสริมสารอาหารจะทำให้แมวนำสารอาหารเหล่านั้นไปใช้ในการฟื้นฟูได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับแมวที่ยังไม่ป่วยเป็นโรคจำเป็นต้องพาไปทำวัคซีนเพื่อป้องกันทั้งไวรัส FeLV และ FIV โดยสามารถปรึกษาสัตวแพทย์ถึงการทำวัคซีนและมาทำวัคซีนตามนัดทุกครั้ง
บทความที่น่าสนใจกับ ทำความรู้จักกับ “โรคเบาหวาน” โรคยอดฮิตของผู้ใหญ่ที่เด็กก็เป็นได้ และ แนะนำ 7 ลิปมันที่จะทำให้ริมฝีปากของคุณนุ่มน่าสัมผัส